5 พฤติกรรมที่ห้ามทำในมื้อปิ้งย่างเพื่อความปลอดภัย

452 จำนวนผู้เข้าชม  | 

5 พฤติกรรมที่ห้ามทำในมื้อปิ้งย่างเพื่อความปลอดภัย

       การทานปิ้งย่างหมูกระทะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน มีข่าวและงานวิจัยหลายแหล่งตีแผ่ออกมาว่าเตาหมูกระทะไฟฟ้าหนึ่งเตาสามารถสร้างอันตรายให้กับผู้รับประทานได้หลายแง่มุม ดังนั้น ปิ้งย่างหมูกระทะจึงเป็นมื้ออาหารที่ผู้รับประทานควรรู้ขีดจำกัด ไม่ตามใจปากมากจนเกินไป รวมถึงรู้จักวิธีรับประทานที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

5 พฤติกรรมอันตรายในมื้อปิ้งย่างเป็นภัยถึงชีวิต

       หากต้องการรับประทานปิ้งย่างหมูกระทะให้ปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิต ผู้รับประทานควรหลีกเลี่ยง 5 พฤติกรรมเหล่านี้

1.        ใช้ตะเกียบย่างเนื้อร่วมกับตะเกียบที่ใช้รับประทาน

การใช้ตะเกียบคีบเนื้อสัตว์ดิบโดยเฉพาะเนื้อหมูลงวางลงกระทะและนำมารับประทานต่อ เสี่ยงต่อการนำเชื้อโรคเข้าปากและโรคอันตรายอย่างไข้หูดับ และนอกจากการใช้ตะเกียบยังควรระวังเรื่องการแยกภาชนะสุกและดิบออกจากกันด้วย

2.        ใช้เตาหมูกระทะแบบแก๊สกระป๋องบนที่สูง

ไม่ควรใช้เตาหมูกระทะแบบกระป๋องแก๊สหากอยู่อาศัยบนพื้นที่สูง เพราะความดันในกระป๋องแก๊สจะมีโอกาสสูงขึ้นจนเกิดระเบิดได้ตอนเปิดใช้งานเตา

3.        ใช้เตาหมูกระทะถ่านในที่ปิด

หากที่บ้านใช้เตาหมูกระทะถ่าน ห้ามใช้งานในห้องแอร์หรือพื้นที่ปิดเป็นอันขาด เพราะเตาถ่านก่อมลภาวะที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์และคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งถ้าหากสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน หมดสติ และเสียชีวิตได้ในที่สุด

4.        บริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นจำนวนมาก

การปิ้งย่างเนื้อสัตว์ที่ไม่ใช่เนื้อสดแต่เป็นเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม กุนเชียง ฯลฯ ผลิตภัณฑ์แปรรูปเหล่านี้ขึ้นชื่อว่ามีสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอันตรายก่อมะเร็ง

5.        ใช้กระทะปิ้งย่างที่มีรอยไหม้สะสม

การนำกระทะปิ้งย่างใบเก่าที่มีรอยไหม้ฝังลึกจากการรับประทานครั้งก่อน ๆ ออกมาใช้ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ทำให้ร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งเช่นกัน

อุปกรณ์เสริมช่วยให้มื้อปิ้งย่างหมูกระทะปลอดภัย

       จะเห็นได้ว่าสุขภาพและความปลอดภัยของเราขึ้นอยู่กับ 2 อย่างคือ วัตถุดิบและอุปกรณ์ ในเรื่องของวัตถุดิบเราสามารถเลือกรับประทานของสดสะอาดได้ ส่วนในเรื่องของอุปกรณ์ อาจจะลองพิจารณาหาสิ่งเหล่านี้ติดบ้านไว้เพื่อลดความเสี่ยงทั้งในเชิงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างมื้อรวมถึงความเสี่ยงเชิงสุขภาพ

1.        กระดาษรองปิ้งย่าง

มีส่วนช่วยลดน้ำมันกระเด็น ช่วยไม่ให้อาหารไหม้เกรียมได้ง่าย และช่วยป้องกันปัญหาเรื่องอาหารไหม้ติดกระทะ

2.        ที่คีบแสตนเลส

เลิกใช้ตะเกียบในการคีบเนื้อวางบนเตา แต่หันมาใช้ที่คีบแสตนเลสแทนก็ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องเชื้อปนเปื้อน ที่สำคัญหากใช้เตาแบบไฟฟ้าควรเลือกที่คีบแสตนเลสที่มีด้ามจับทำจากวัสดุไม่นำไฟฟ้าด้วย

3.        เตาไฟฟ้า

ลองเปลี่ยนมาใช้เตาหมูกระทะไฟฟ้าแทนแบบถ่านหรือแก๊ส ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการสูดดมควันพิษและการระเบิดของกระป๋องแก๊ส ที่สำคัญคือ ต้องเป็นเตาไฟฟ้าแบบที่ได้รับรองมาตรฐานเรียบร้อย ป้องกันเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร

       เห็นแล้วว่าอันตรายจากเตาหมูกระทะไฟฟ้าหนึ่งใบนั้นมีหลายระดับ ถ้าดวงยังดีอาจจะแค่อาการท้องเสียเฉียบพลันเนื่องมาจากความไม่สะอาดของวัตถุดิบและภาชนะ แต่ความร้ายแรงอาจไต่ระดับไปถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรทานอย่างมีสติและลงทุนในอุปกรณ์ที่จะช่วยป้องกันให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต ดีกว่าจะปล่อยให้มื้อแห่งความสุขต้องกลายเป็นมื้อแห่งความเศร้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้